ตู้แช่ปิดไม่สนิทเป็นปัญหาที่หลายร้านค้ากำลังเผชิญอยู่ เพราะเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตู้แช่สูญเสียความเย็น ทำให้ของที่แช่เอาไว้ไม่สดใหม่และเกิดเน่าเสียง่ายขึ้นเนื่องจากตู้แช่ไม่ได้มีการรักษาอุณหภูมิและคงความเย็นไว้อย่างเสถียรนั่นเอง ซึ่งทั้งหมดนี้อาจเกิดจากต้นเหตุขอบยางตู้แช่หรือขอบยางประตูของตู้แช่ที่เสื่อมสภาพ เกิดแข็งตัว มีรอยรั่ว หรือสกปรกจนไม่สามารถปิดประตูให้สนิทได้ จนส่งผลให้ตู้แช่ทำงานหนักขึ้นและเปลืองพลังงาน จนทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นไปอีกด้วย
แต่ไม่ต้องกังวลไปการแก้ไขปัญหานี้ไม่ได้ยากอย่างที่คิด เพราะคุณสามารถเปลี่ยนขอบยางตู้แช่ใหม่ได้ด้วยตัวเองเพียงไม่กี่ขั้นตอนง่าย ๆ โดยไม่ต้องเรียกช่างมืออาชีพมาจัดการ วันนี้เรา SIAM INTERCOOL จึงขอมาแนะนำวิธีตรวจเช็คสภาพของขอบยาง พร้อมทั้งขั้นตอนในการเปลี่ยนขอบยางตู้แช่ รวมถึงมาดูกันว่าที่ตู้แช่ปิดไม่สนิทเพราะขอบยางเกิดจากสาเหตุอะไร ตามไปอ่านรายละเอียดกันด้านล่างได้เลย
สาเหตุที่ตู้แช่ปิดไม่สนิท
การที่ตู้แช่ปิดไม่สนิทมักเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งส่วนใหญ่มากจาก “ขอบยางตู้แช่เสื่อมสภาพ” นั่นเอง เพราะเมื่อขอบยางประตูที่ใช้งานมาอย่างยาวนานเกิดชำรุดเสียหายหรือติดตั้งไม่ดี จะทำให้ปิดประตูตู้แช่ไม่สนิท และเกิดการรั่วของความเย็นภายในตู้ โดยสาเหตุที่ทำให้ขอบยางเสื่อมสภาพ มีดังต่อไปนี้
- ฝุ่นและคราบสกปรกที่ติดบริเวณขอบยาง : สิ่งสกปรกที่ติดอยู่ตรงขอบยางประตูซึ่งไม่ได้ทำความสะอาดมาเป็นเวลานาน อาจะทำให้เกิดการสะสมของสิ่งสกปรกจนเกิดคราบ ซึ่งทำให้ขอบยางไม่สามารถปิดประตูได้แนบสนิทและอาจะทำให้เกิดรอยรั่วขึ้นได้นั่นเอง
- อายุการใช้งานของขอบยางตู้แช่ : แน่นอนว่าขอบยางของตู้แช่ที่ใช้งานมานานหลายปี ย่อมมีแนวโน้มที่จะเสื่อมสภาพตามกาลเวลา เนื่องจากการเปิด-ปิดประตูตู้แช่บ่อย ๆ จะทำให้ขอบยางเสียดสีกันจนเกิดการสึกหรอและสูญเสียความยืดหยุ่น
- ขอบยางชำรุดหรือเสื่อมสภาพ : ขอบยางตู้แช่อาจได้รับความเสียหายจากการกระแทกประตูในขณะปิดตู้แช่ หรือการดึงแรงเกินไปขณะเปิดประตู รวมถึงการใช้งานบ่อยครั้งจนทำให้ขอบยางเกิดฉีกขาด ขอบยางหลวม หรือมีลักษณะแข็ง ไม่มีความยืดหยุ่น จนส่งผลให้ตู้แช่ปิดไม่สนิท
- การหดหรือขยายตัวของขอบยาง : การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิภายในตู้แช่หรือความชื้น อาจทำให้ขอบยางตู้แช่เกิดการหดหรือขยายตัว ขอบยางบิดเบี้ยวหรือเกิดเชื้อราขึ้นได้เช่นกัน ดังนั้นเมื่อขอบยางไม่สามารถคืนรูปกลับมาได้ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ประตูตู้แช่ปิดไม่สนิทนั่นเอง
สัญญาณบ่งบอกว่าขอบยางเสื่อมสภาพ
การสังเกตสัญญาณบ่งบอกว่าขอบยางตู้แช่เริ่มเสื่อมสภาพเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้เราสามารถแก้ไขได้ทันท่วงทีก่อนที่จะเกิดปัญหาการใช้งานตู้แช่ที่รุนแรงกว่าเดิม โดยมีวิธีสังเกตอาการของขอบยาง ดังต่อไปนี้
- ประตูตู้แช่ปิดไม่สนิท : หากประตูตู้แช่ปิดไม่แนบสนิท หรือมีช่องว่างระหว่างประตูกับตัวตู้ นั่นเป็นสัญญาณแรกที่บ่งบอกว่าขอบยางอาจเสื่อมสภาพหรือเกิดเสียหายนั่นเอง
- ตู้แช่เปิดเองได้ : เนื่องจากขอบยางตู้แช่ไม่มีความยืดหยุ่นจนส่งผลต่อความสามารถในการซีลสุญญากาศ ทำให้ประตูตู้แช่ไม่สามารถปิดได้ และเปิดออกด้วยตัวเอง
- ขอบยางแข็งหรือฉีกขาด : ขอบยางตู้แช่ที่เคยมีความยืดหยุ่นกลับมีความแข็งกระด้าง หรือมีรอยแตกและฉีกขาด แสดงว่าขอบยางเกิดเสื่อมสภาพและควรเปลี่ยนใหม่โดยเร็ว
- น้ำแข็งเกาะบริเวณขอบตู้แช่ : เนื่องจากอากาศภายนอกตู้แช่เกิดรั่วไหลเข้าไปภายใน ทำให้เกิดความต่างของอุณหภูมิระหว่างภายนอกและภายในตู้แช่ จนมีน้ำแข็งเกาะหนาบริเวณขอบประตู รวมถึงมีนำ้หยดภายในตู้แช่
ผลกระทบจากขอบยางตู้แช่เสื่อมสภาพ
- ประสิทธิภาพการทำความเย็นลดลง : เนื่องจากขอบยางเสื่อมสภาพทำให้ตู้แช่ปิดไม่สนิท ส่งผลให้ความเย็นภายในตู้แช่รั่วไหลออกจากตู้และไม่สามารถรักษาอุณหภูมิที่เหมาะสมได้นั่นเอง
- ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น : เมื่อความเย็นรั่วไหลออกจากตู้แช่ จนทำให้คอมเพรสเซอร์ทำงานหนักขึ้นเพื่อรักษาอุณหภูมิภายในตู้แช่ให้คงที่ ส่งผลให้เกิดการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นภาระต่อค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่ทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
- ของที่แช่เสียเร็วขึ้น : วัตถุดิบหรืออาหารที่เก็บไว้ในตู้แช่อาจเน่าเสียเร็วขึ้น เนื่องจากอากาศภายนอกที่รั่วเข้ามาเพราะตู้แช่ปิดไม่สนิท ทำให้อุณหภูมิภายในไม่คงที่ หรือการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและเชื้อราจากความชื้นที่มีน้ำแข็งเกาะ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาหารเป็นพิษขึ้นได้ ตลอดจนส่งเกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ภายในตู้แช่อีกด้วย
- ตู้แช่มีน้ำแข็งเกาะ : อากาศภายนอกที่รั่วเข้ามาทำให้เกิดความชื้นสะสมภายในตู้แช่ และเมื่ออุณหภูมิลดต่ำลงความชื้นเหล่านั้นจะกลายเป็นน้ำแข็งเกาะตามผนังและขอบยางประตู
- อายุการใช้งานของตู้แช่สั้นลง : ปัญหาขอบยางเสื่อมสภาพอาจส่งผลให้ชิ้นส่วนอื่น ๆ ของตู้แช่เสื่อมสภาพตามมา เช่น มอเตอร์ พัดลม หรือคอมเพรสเซอร์ที่ต้องทำงานหนักขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ตู้แช่มีอายุการใช้งานที่สั้นลงกว่าที่ควรเป็น
วิธีตรวจเช็คสภาพขอบยางตู้แช่
การตรวจเช็คสภาพขอบยางเป็นประจำจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการเสื่อมสภาพของขอบยางตู้แช่ อีกทั้งยังช่วยให้ตู้แช่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหากพบสัญญาณที่บ่งบอกว่าขอบยางเริ่มมีปัญหา ควรตัดสินใจเปลี่ยนขอบยางตู้แช่ใหม่เพื่อให้ตู้แช่ทำงานได้อย่างเต็มที่และไม่เปลืองพลังงาน โดยมีวิธีการตรวจเช็คสภาพขอบยางตู้แช่ง่าย ๆ ดังนี้
- สังเกตด้วยตาเปล่า : ตรวจสอบสภาพของขอบยางตู้แช่ว่ามีรอยฉีกขาด รอยบุบ หรือสึกหรอหรือไม่ รวมถึงลองใช้นิ้วกดบริเวณขอบยางเบา ๆ เพื่อทดสอบความยืดหยุ่นว่าสามารถกลับคืนรูปได้อย่างรวดเร็วหรือเปล่า
- ทดสอบการปิดประตู : ทดลองเปิดและปิดประตูตู้แช่ว่าสามารถปิดได้สนิทหรือไม่ หากมีช่องว่างระหว่างประตูกับตัวตู้แช่ หรือหากต้องใช้แรงมากในการเปิด-ปิดประตูแสดงว่าขอบยางเริ่มมีปัญหาในการใช้งาน
- ทดสอบด้วยกระดาษ : ใช้กระดาษสอดระหว่างขอบยางและขอบประตูตู้แช่ โดยการเลื่อนกระดาษไปรอบประตู หากส่วนใดสามารถเลื่อนผ่านไปได้สะดวกไม่มีฝืด แสดงว่าส่วนนั้นปิดไม่สนิทเพราะขอบยางเกิดมีรอยรั่วนั่นเอง
ขั้นตอนการเปลี่ยนขอบยางตู้แช่
การเปลี่ยนขอบยางตู้แช่เป็นวิธีแก้ไขปัญหาตู้แช่ปิดไม่สนิทที่คุณสามารถทำได้เอง โดยไม่ต้องพึ่งพาช่างมืออาชีพในการเปลี่ยนขอบยางประตู เพียงแค่เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมและทำตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม
- ขอบยางใหม่ที่ตรงกับรุ่นและขนาดของตู้แช่
- ไขควง
- คีม
- มีดคัตเตอร์ (ถ้าจำเป็น)
- ผ้าสะอาดและน้ำยาทำความสะอาด
ขั้นตอนการเปลี่ยนขอบยาง
- ซื้อขอบยางเส้นใหม่ : เลือกซื้อขอบยางเส้นใหม่ที่ตรงตามรุ่นและขนาดที่ใช้ โดยจดรายละเอียดของยี่ห้อ รุ่น และขนาด รวมถึงหมายเลขประจำเครื่องหรือ Serial Number เพื่อนำไปให้ร้านจำหน่ายอะไหล่ตู้เย็น-ตู้แช่ หรือศูนย์ให้บริการแนะนำว่าควรซื้อขอบยางแบบไหนให้เหมาะกับตู้แช่ของเรา ซึ่งราคาของขอบยางตู้แช่ โดยประมาณจะอยู่ที่ 500 – 700 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรุ่นและขนาดกับขอบยางของตู้แช่ที่ใช้ด้วย
- เตรียมขอบยางใหม่ให้พร้อมติดตั้ง : เนื่องจากขอบยางที่ซื้อมาใหม่จะมีความแข็งอยู่ ดังนั้นจึงควรทำให้เกิดความยืดหยุ่นด้วยการใช้ความร้อน เช่น เป่าลมร้อนด้วยเครื่องเป่าผม หรือนำไปแช่ในน้ำอุ่นประมาณ 2 – 3 นาที เพื่อทำให้ขอบยางเกิดความอ่อนตัวและยืดหยุ่นเพื่อสามารถนำไปติดตั้งกับขอบประตูตู้แช่ได้
- ปิดเครื่องและถอดปลั๊กไฟ : ก่อนเริ่มการเปลี่ยนขอบยางตู้แช่ ควรปิดการทำงานของตู้แช่และถอดปลั๊กไฟเพื่อความปลอดภัยก่อนเริ่มเปลี่ยนขอบยาง
- ถอดขอบยางเส้นเก่าออกจากตู้แช่ : นำไขควงมาคลายสกรูบริเวณประตูตู้แช่ที่ยึดกับขอบยางเส้นเก่าออก และมองหาจุดเริ่มต้นของขอบยางที่สามารถดึงออกได้ง่ายด้วยคีมหรือมือเปล่า โดยควรเริ่มจากบริเวณด้านบนของตู้แช่ก่อน เพื่อให้ขอบยางบริเวณด้านข้างหลุดตามออกมาเอง
- ทำความสะอาดร่องขอบยาง : เช็ดทำความสะอาดขอบประตูตู้แช่ด้วยฟองน้ำหรือผ้าสะอาดชุบน้ำยาทำความสะอาดเพื่อไม่ให้มีสิ่งสกปรกหรือเศษยางเก่าติดอยู่ให้เรียบร้อยก่อนติดตั้งขอบยางใหม่
- ติดตั้งขอบยางเส้นใหม่ : เริ่มจากการติดตั้งขอบยางใหม่เข้ากับร่องประตู เริ่มจากมุมด้านบนของประตูและค่อย ๆ กดขอบยางลงในร่องประตูจนกว่าทุกด้านจะเข้าที่ลงไปด้านล่างของตู้แช่ และใช้มือกดขอบยางให้แนบสนิทกับร่องประตู พร้อมตรวจสอบให้แน่ใจว่าขอบยางติดตั้งแนบสนิทและไม่มีช่องว่าง จากนั้นใช้ไขควงขันสกรูที่ถอดออกมาเข้าที่เดิมให้ครบทุกจุด
- ทดสอบการใช้งานตู้แช่ : หลังจากเปลี่ยนขอบยางตู้แช่ใหม่แล้ว ให้ทดลองเปิดปิดประตูตู้แช่และตรวจสอบว่าประตูปิดสนิทหรือไม่ หากมีช่องว่างหรือประตูปิดไม่แน่น ควรตรวจสอบขอบยางตู้แช่และแก้ไขในตำแหน่งที่ไม่เข้าที่ จากนั้นให้เสียบปลั๊กใช้งานได้ตามปกติ
เป็นอย่างไรบ้างครับ ขั้นตอนง่าย ๆ เพียงเท่านี้คุณก็สามารถเปลี่ยนขอบยางตู้แช่ได้เองโดยไม่ต้องโทรเรียกช่างมาเปลี่ยนให้เสียเงิน เสียเวลาอีกต่อไปแล้ว !
บทความที่น่าสนใจ :
- ตู้แช่ไม่เย็น แถมเปลืองไฟ ใช้งานแบบไหนเสี่ยงตู้พัง?
- เคลียร์ข้อสงสัย ทำไมตู้แช่แข็งถึงมีน้ำแข็งเกาะตามผนังตู้แช่ ?
สั่งซื้อ-สั่งผลิตตู้แช่สำหรับธุรกิจ ได้ที่ “SIAM INTERCOOL”
หากคุณกำลังมองหาตู้แช่ที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการของธุรกิจของคุณ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร โรงแรม ซูเปอร์มาร์เก็ต มินิมาร์ท ร้านขายเนื้อสัตว์ ร้านนั่งชิล หรือธุรกิจประเภทอื่น ๆ ที่ต้องการตู้แช่เพื่อเก็บรักษาอาหารและเครื่องดื่มให้สดใหม่
สามารถสั่งซื้อหรือสั่งผลิตตู้แช่กับ “SIAM INTERCOOL” โรงงานผลิตตู้แช่คุณภาพ เรารับออกแบบและผลิตตู้แช่ สำหรับธุรกิจทุกประเภท! โดยให้บริการจำหน่าย-ออกแบบ-ติดตั้งตู้แช่ ครบวงจรเพื่อทุกธุรกิจ
สนใจติดต่อหรือสอบถามรายละเอียดจากเรา SIAM INTERCOOL ได้ที่ช่องทางด้านล่างเลยครับ
โทร. 061-536-4646
LINE: @siamintercool หรือคลิก https://lin.ee/Nef6ws2g
E-mail : [email protected]
Facebook : Siam Intercool